วันอังคารที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2552

แนวคิดการสื่อสาร

แนวคิดการสื่อสาร

ความเป็นมาของแนวคิดทางเทคโนโลยีการศึกษา

ความหมายเทคโนโลยีทางการศึกษา
Techno มาจากภาษากรีกว่า Technologia หมายถึง ศิลปะ วิทยาศาสตร์ หรือทักษะ (art science or skill) และมาจากภาษาลาตินว่า Texere หมายถึงการสานหรือการสร้าง (กิดานันท์ มลิทอง, 2540) โดยมีผู้นักวิชาการให้คำนิยามของคำว่า เทคโนโลยีการศึกษา (Educational Technology) ไว้แตกต่างกันหลายมิติ ดังนี้
Good C. (1973) กล่าวว่า เทคโนโลยีการศึกษาหมายถึง การนำหลักการทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้เพื่อการออกแบบและส่งเสริมระบบการเรียนการสอน โดนเน้นที่วัตถุประสงค์ทางการศึกษาที่สามารถวัดได้อย่างถูกต้องแน่นอน มีการยึดหลักผู้เรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนมากกว่ายึดเนื้อหาวิชามีการใช้การศึกษาเชิงปฏิบัติโดยผ่านการวิเคราะห์และการใช้โสตทัศนูปกรณ์รวมถึงเทคนิคการสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อื่น ๆ

Gane and Briggs (1974) กล่าวว่า เทคโนโลยีการศึกษา พัฒนาจากการออกแบบการเรียนการสอนรูปแบบต่าง ๆ ที่สัมพันธ์กับพฤติกรรมศาสตร์ ทฤษฎีการเรียนรู้ เทคโนโลยีด้านวิทยาศาสตร์กายภาพ และความสนใจในเรียนรู้ของแต่ละบุคคล

AECT (1977) ได้ให้คำนิยามไว้ว่า เทคโนโลยีการศึกษาเป็นสิ่งที่ซับซ้อน เป็นกระบวนการบูรณาการที่เกี่ยวกับมนุษย์ วิธีดำเนินการ แนวคิด เครื่องมือ และอุปกรณ์ เพื่อการวิเคราะห์ปัญหา การคิดวิธีการนำไปใช้ การประเมินและการจัดแนวทางการแก้ปัญหาในส่วนที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ทั้งมวลของมนุษย์


กิดานันท์ มลิทอง (2540) ได้ให้ความหมายว่า เทคโนโลยีการศึกษาเป็นการประยุกต์เอาแนวคิด เทคนิค วิธีการ วัสดุ อุปกรณ์ การจัดระบบสารสนเทศ และสิ่งต่าง ๆ มาใช้ในการศึกษาให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตทั้งในและนอกห้องเรียน

ชัยยงค์ พรหมวงศ์ (2545) ได้ให้ความหมายว่า เทคโนโลยีการศึกษาเป็นศาสตร์ว่าด้วยวิธีการหรือการศึกษา เป็นเรื่องของระบบในการประยุกต์เอาเทคนิควิธีการ แนวความคิด อุปกรณ์และเครื่องมือใหม่ๆ มาใช้เพื่อช่วยแก้ปัญหาทางการศึกษาทั้งในด้านการขยายงานและด้านการปรับปรุงคุณภาพของการเรียนการสอน จากพจนานุกรมศัพท์ทางการศึกษาได้ให้ความหมายของเทคโนโลยีการศึกษาว่าเป็นกระบวนการที่ซับซ้อนและประสานสัมพันธ์อย่างมีบูรณาการ ระหว่างบุคคล วิธีการ เครื่องมือ และการจัดระบบองค์การสำหรับวิเคราะห์ปัญหา วิธีแก้ปัญหา ดำเนินการประเมินผล และการจัดการแก้ปัญหาเหล่านั้น ซึ่งเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับทุกลักษณะของการเรียนรู้ (สุวิทย์ และคณะ, 2540)

Heinic, Molenda and Russel (2000) กล่าวว่า เทคโนโลยีการศึกษาเป็นการให้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เกี่ยวกับการเรียนรู้ของมนุษย์ให้ปฎิบัติได้ในรูปแบบของการเรียนการสอน อีกนัยหนึ่งก็คือ การให้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ (ทั้งด้านยุทธวิธี และด้านเทคนิค) เพื่อแก้ปัญหาทางการสอน เป็นความพยายามสร้างการสอนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยออกแบบ ดำเนินการและการประเมินผลการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบ บนพื้นฐานของการศึกษาวิจัยในการเรียนและการสื่อสาร

จากความหมายต่าง ๆ ที่กล่าวมานี้ จะเห็นได้ว่า เทคโนโลยีการศึกษาเป็นการประยุกต์เอาเทคนิค วิธีการ แนวความคิด วัสดุ อุปกรณ์ และศาสตร์ทางการศึกษา มาใช้ในการวิเคราะห์ปัญหาทางการศึกษา ซึ่งเป็นกระบวนการที่ซับซ้อน โดยแต่ละส่วนของกระบวนการมีความเป็นบูรณาการไม่ได้แยกเป็นอิสระจากกัน ทำให้นิยามของเทคโนโลยีทางการศึกษามีจุดเริ่มต้นจาก สอง แนวความคิด ดังนี้ (ชัยยงค์, 2545 : 12-13)


แนวคิดที่ 1 เน้นสื่อ (สื่อ+อุปกรณ์)
เป็นแนวคิดที่นำผลผลิตทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม ที่มีทั้งวัสดุสิ้นเปลือง (Software) และอุปกรณ์ที่คงทนถาวร(Hardware) แนวคิดนี้เชื่อว่า การเรียนรู้เกิดจากการฟังด้วยหู และชมด้วยตา สิ่งที่เกิดขึ้นจากการเน้นสื่อถูกนำมาใช้เพื่อประโยชน์ของครู นักเรียนซึ่งถือได้ว่าเป็นตามแนวคิดทางวิทยาศาสตร์กายภาพ (Physical Science Concept) ตัวอย่างของสิ่งที่เกิดขึ้น อาทิเช่น เครื่องฉายภาพข้ามศรีษะ เครื่องรับโทรทัศน์ ภาพยนตร์ คอมพิวเตอร์ และรายการอื่นๆ ที่อยู่ในรูปของอุปกรณ์ (Hardware) และวัสดุ (Software)


แนวคิดที่ 2 เน้นวิธีการ (สื่อ+อุปกรณ์ + วิธีการ)
เป็นแนวคิดที่ประยุกต์หลักการทางจิตวิทยา สังคมวิทยา มานุษย์วิทยา และผลผลิตทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม เพื่อช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเรียนรู้ เน้นวิธีการจัดระบบ (System Approach) ที่ใช้ในการออกแบบ การวางแผน ดำเนินการตามแผน และประเมินกระบวนการทั้งหมดของการเรียนการสอน ภายใต้วัตถุประสงค์ที่วางไว้อย่างเฉพาะเจาะจง ด้วยการใช้ผลการวิจัยเกี่ยวกับการเรียนรู้ของมนุษย์ การสื่อสาร เป็นพื้นฐานการดำเนินงาน ซึ่งถือได้ว่าเป็นตามแนวคิดทางพฤติกรรมศาสตร์ (Behavioral Science)


จากแนวความคิดดังกล่าวข้างต้น เทคโนโลยีการศึกษา ตามแนวคิดทางวิทยาศาสตร์กายภาพ (Physical Science Concept) นั้น เป็นแนวคิดที่คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจ เพราะเน้นสื่อสิ่งของ แต่แนวคิดทางพฤติกรรมศาสตร์ (Behavioral Science) ที่เป็นแนวคิดเกี่ยวกับวิธีระบบ เป็นแนวคิดที่คนยังเข้าใจน้อย เพราะเน้นสื่อประเภทวิธีการ หรืออาจกล่าวโดยสรุป คือ เทคโนโลยีการศึกษา ตามแนวทางแรกนั้นเป็นเทคโนโลยีเครื่องมือ และแนวคิดอย่างหลังนั้นเป็นเทคโนโลยีระบบ
แต่อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีการศึกษา ยังมีภาพลักษณ์ของโสตทัศนศึกษา (Audio Visual Education) อยู่มาก เป็นผลทำให้เทคโนโลยีการศึกษามีภาพที่บุคคลทั่วไปมองและเข้าใจว่า ธรรมชาติของเทคโนโลยีการศึกษา เน้นหนักเกี่ยวกับการใช้เครื่องมือ ตลอดจนการนำผลผลิตทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในระบบการศึกษา นับได้ว่าการที่บุคคลจำนวนมากมีความเข้าใจในลักษณะดังกล่าวถือเป็นความเข้าใจที่ยังไม่ถูกต้องทั้งหมด เพราะธรรมชาติของเทคโนโลยีการศึกษา อีกมิติหนึ่งคือ เทคโนโลยีระบบที่เน้นเกี่ยวกับการจัดการ การออกแบบ การวางแผน การดำเนินการตามแผนและการประเมิน ซึ่งเป็นการนำวิธีระบบมาใช้เพื่อแก้ปัญหา หรือจัดสภาพการณ์ทางการศึกษาให้มีประสิทธิภาพตามเป้าหมาย


พัฒนาการของเทคโนโลยีการศึกษา
เทคโนโลยีการศึกษาเป็นสหวิทยาการที่รวมเอาศาสตร์ต่าง ๆ มาประกอบกัน ได้แก่ พฤติกรรมศาสตร์ (Behavioral Sciences) วิทยาการจัดการ (Management Science) และวิทยาศาสตร์กายภาพ (Physical Science) จากศาสตร์ดังกล่าวจึงเกิดการนำเทคโนโลยีมาใช้ในวงการศึกษา โดยมีพัฒนาการจำแนกได้ดังนี้
เทคโนโลยีการศึกษาสื่อสาร ได้มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาขึ้นอย่างมากในช่วงปลาย ทศวรรษที่ 1960 เมื่อโลกได้หันเข้ามาสู่ยุคของคอมพิวเตอร์ ในด้านการศึกษานั้น ได้มีการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในโรงเรียนเป็นครั้งแรกในปี 1977 ที่สหรัฐอเมริกา เมื่อบริษัท APPLE ได้ประดิษฐ์เครื่อง APPLE II ขึ้น โดยการใช้ในระยะแรกนั้นมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการบริหารจัดการ ต่อมาได้มีการพัฒนาโปรแกรมต่าง ๆ เพื่อให้ใช้ได้ง่ายและสามารถช่วยในการเรียนการสอนได้มากขึ้น คอมพิวเตอร์จึงเป็นสิ่งที่ครูและนักเรียนคุ้นเคย และมีการใช้กันอย่างแพร่หลายจนทุกวันนี้ ยุคของมัลติมีเดียเพื่อการศึกษาได้เริ่มขึ้นในปี 1987 เมื่อบริษัท APPLE ได้เผยแพร่โปรแกรมมัลติมีเดียครั้งแรกออกมา คือโปรแกรม HyperCard แม้ว่าโปรแกรมนี้จะต้องใช้เครื่องที่มีกำลังสูง ต้องใช้เวลาในการฝึกหัดมาก แต่ผลที่ได้รับก็น่าประทับใจ การพัฒนามัลติมีเดียเพื่อการศึกษาได้มีการดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง มีการพัฒนาโปรแกรม Hyper Studio มาใช้ และได้รับความนิยมมากขึ้นในหลาย ๆ โรงเรียน อย่างไรก็ตามเพียงภายในสองปี มัลติมีเดียเพื่อการศึกษาก็ถูกแทนที่โดยสิ่งที่น่าตื่นเต้นมากกว่า นั่นก็คือ อินเทอร์เน็ต (Internet) นั่นเอง


ปัจจุบันนี้ อินเทอร์เน็ตมีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็ว จากผลการสำรวจปี 2545 คนอเมริกันใช้คอมพิวเตอร์ถึง174 ล้านคน (หรือร้อยละ 66 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ) และมีการใช้อินเทอร์เน็ตประมาณ 143 ล้านคน (หรือร้อยละ 54 ของประชากร) ส่วนในประเทศไทยนั้นผลสำรวจผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในเขตเมืองใหญ่เมื่อเดือนพฤษภาคม 2544 พบว่ามีคอมพิวเตอร์เป็นของตนเองเพียงร้อยละ 24 เท่านั้น ส่วนจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมีประมาณ 10 ล้านคน ( ร้อยละ 16.6 ของประชากร) นอกจากนั้น ยังมีการสรุปด้วยว่าการใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยแพร่หลายมากขึ้น เพราะค่าใช้จ่ายถูกลงและมีอินเทอร์เน็ตคาเฟ่มากขึ้น
การพัฒนาอันน่ามหัศจรรย์ใจของอินเทอร์เน็ตในฐานะที่เป็นเครือข่ายแห่งเครือข่ายทำให้มีการเชื่อมโยงกันได้อย่างเสรีไม่มีการปิดกั้น ดังนั้นคนทุกคนจึงสามารถเผยแพร่ข้อมูลของตนบนอินเทอร์เน็ตได้อย่างง่ายดาย พอ ๆ กับการที่สามารถสืบค้นข้อมูลได้จากแหล่งความรู้ต่าง ๆ ทั่วโลก และจากคุณสมบัติดังกล่าวนี้ อินเทอร์เน็ตจึงมีประโยชน์อย่างยิ่งในการศึกษารูปแบบต่าง ๆ เพราะนักเรียนและครูสามารถสื่อสารถึงกันได้โดยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่น อีเมล์ การแลกเปลี่ยนความรู้ผ่านระบบ Bulletin Board และ Discussion Groups ต่าง ๆ ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีที่ ทันสมัยยิ่งขึ้นในการโทรศัพท์หรือประชุมทางไกลผ่านอินเทอร์เน็ต อินเทอร์เน็ตจึงเพิ่มบทบาทสำคัญในการศึกษารูปแบบใหม่และยังช่วยเปลี่ยนบทบาทของครูจาก “ผู้สอน” มาเป็น “ผู้แนะนำ” พร้อมทั้งช่วยสนับสนุนให้เด็กสามารถเรียนและค้นคว้าด้วยตนเองอีกด้วย

เทคโนโลยีการศึกษา เริ่มต้นใช้คำว่า โสตทัศนศึกษา ต่อมาพัฒนาเป็นเทคโนโลยีการศึกษา ซึ่งการนำสื่อโสตทัศน์ และวิธีการเข้ามาใช้เพื่อพัฒนาการเรียนการสอน มีการนำทฤษฎีการสื่อสาร ทฤษฎีทางจิตวิทยาเข้ามา มีส่วนทำให้เกิดการสอนแบบต่าง ๆ มีการออกแบบระบบการเรียนการสอน และความก้าวหน้าทางคอมพิวเตอร์มัลติมีเดียและเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบการศึกษาไม่ว่าจะเป็นในระบบ นอกระบบ หรือตามอัธยาศัย ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ด้วยตนเอง การสอนเป็นกลุ่ม การสอนมวลชน การสอนทางไกล และการศึกษาตลอดชีวิต รวมทั้งแนวคิดการสอนที่เปลี่ยนแปลงไปทั้ง Teacher Center Child Center หรือ Media Center รวมทั้งการสอนแบบปฏิสัมพันธ์ การสอนผ่านเครือข่าย จะเห็นได้ว่าศาสตร์ของเทคโนโลยีการศึกษา มีพัฒนาการมาเป็นลำดับขั้น และประยุกต์ใช้เพื่อทำให้การศึกษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
เทคโนโลยีการศึกษาจึงถือเป็นเครื่องมือการศึกษา ที่มุ่งจัดระบบทางการศึกษาด้วยวิธีการแก้ปัญหาที่มองภาพแบบองค์รวมลักษณะของการดำเนินการแก้ปัญหา จะมุ่งวิเคราะห์สภาพการณ์ทั้งหมด จากนั้นจึงเป็นการจัดความสัมพันธ์ขององค์ประกอบย่อยขึ้นมาใหม่ ให้มีความสอดคล้องสัมพันธ์กัน โดยยึดถือหลักว่าให้แต่ละส่วนประกอบย่อยทำงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนั้น เทคโนโลยีการศึกษา มองภาพระบบทางการศึกษาเป็นระบบใหญ่ที่ประกอบขึ้นด้วยระบบย่อย อีกหลายระบบด้วยกัน
สำหรับความเป็นมาของการเกิดแนวคิดทางเทคโนโลยีการศึกษา หากมองตามการเกิดขึ้นของแนวคิดกับ

การปฏิบัติจริงขององค์ความรู้ในแต่ละอย่าง ก็จะมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ
1. เกิดแนวคิดก่อนแล้วนำไปสู่การปฏิบัติ ความรู้ประเภทนี้มักเป็นเรื่องที่เป็นการศึกษา
ค้นคว้าทดลองจากแนวคิดหรือหลักการทฤษฎีที่มีคิดขึ้นเองหรือมีผู้คิดไว้ก่อนแล้ว แต่ยังไม่สามารถนำความคิดไปทดลองใช้ได้อย่างจริงจัง เช่น การค้นพบคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งทำให้เกิดแนวคิดในการส่งสัญญาณวิทยุ ต่อมาจึงมีผู้นำแนวความคิดไปทดลองจนประสบความสำเร็จ
2. เกิดจากการปฏิบัติหรือการกระทำที่เป็นอยู่ แล้วนำไปสู่การสรุปเป็นแนวคิดหรือทฤษฎี
ความรู้ประเภทนี้มักจะเป็นเรื่องความเป็นไปตามกฎเกณฑ์ธรรมชาติหรือตามสามัญสำนึกของคนโดยทั่วไป เช่น การเกิดลมพัด น้ำขึ้นน้ำลง แรงโน้มถ่วง ซึ่งคนทั่วไปอาจคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา หรือเรื่องของธรรมชาติ แต่นักคิดก็จะพยายามศึกษาและทำความเข้าใจถึงความเป็นไปเหล่านั้น แล้วนำมาสรุปเป็นแนวคิดและทฤษฎีต่าง ๆ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิต หรือสังเคราะห์ให้เกิดแนวคิดหรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับความเป็นไปต่าง ๆ
ความเป็นมาของแนวคิดทางเทคโนโลยีการศึกษา ในระยะแรก ๆ จึงเป็นลักษณะของการกระทำที่เป็นอยู่แล้ว หรือเป็นไปตามสามัญสำนึกของคนโดยทั่วไป เช่น การใช้รูปภาพ หรือ สื่อ อย่างง่าย ๆ มาประกอบการสอนหรือการบรรยาย โดยไม่ได้คิดถึงหลักการหรือทฤษฎีใด ๆ เพียงแต่คิดตามความความเข้าใจว่าย่อมทำให้ผู้เรียนสามารถเข้าใจเรื่องราวได้ดีกว่าการสอนโดย
ไม่มีอุปกรณ์ใด ๆ ส่วนแนวความคิดในยุคหลัง ๆ หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน เป็นการพยายามนำเอาแนวคิดหรือหลักการทฤษฎีที่มีอยู่มาประยุกต์ใช้ เพราะแนวคิดหรือหลักการทฤษฎีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมักได้รับการพิสูจน์ หรือผ่านการศึกษาวิจัยมาแล้ว
------------------------------















เอกสารอ้างอิง

กิดานันท มลิทอง. 2540. เทคโนโลยีการศึกษา และนวัตกรรม. กรุงเทพมหานคร : จุฬาลงกรณ์
มหาวิทยาลัย.
ฉลองชัย สุรวัฒนบูรณ์. 2546. สาระน่ารู้ทางเทคโนโลยีการศึกษา. กรุงเทพมหานคร:
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
ชัยยงค์ พรหมวงศ์. 2545. มิติที่ 3 ทางการศึกษา : สานฝันสู่ความเป็นจริง. กรุงเทพมหานคร :
โรงพิมพ์ บ.เอส.อาร์.พริ้นติ้ง แมสโปรดักส์ จำกัด.
ชัยยงค์ พรหมวงศ์. 2533. แนวคิดเทคโนโลยีการศึกษา. เอกสารการสอนชุดวิชาเทคโนโลยีและ
สื่อสารการศึกษา. นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
ทิพย์เกสร บุญอำไพ. 2536. พัฒนาการเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาในการพัฒนาทรัพยากร
มนุษย์. ประมวลสาระชุดวิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษากับการพัฒนาทรัพยากร
มนุษย์. นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
เปรื่อง กุมุท. 2537. แนวคิดเกี่ยวกับเทคโนโลยีการสอน. ประมวลสาระชุดวิชาเทคโนโลยีและสื่อ
สารการสอน. นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
ศูนย์เทคโนโลยีการศึกษา กรมการศึกษานอกโรงเรียน. 2545. แนวทางปฏิรูปเทคโนโลยีเพื่อการ
กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์กราฟฟิคโกร.
สุวิทย์ หิรัณยกาณฑ์ และคณะ. 2540. พจนานุกรมศัพท์ทางการศึกษา. กรุงเทพมหานคร: ไอคิวบุค
เซ็นเตอร์.
สาโรช โศภีรักข์. 2546. รากฐานจิตวิทยาทางเทคโนโลยีการศึกษา. กรุงเทพมหานคร:
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
Briggs, Leslie J. 1977 . Insturction Design : Principles and Application. Educational Technology
Publications, Inc., Englewood Cliffs, New Jersey.
Gagene, R.M.1985. The Conditions of Learning and theory of Instruciton (4 th ed.). New York:
Holt, Rinehart & Winston, 1985.
Good, C 1973. Dictionary of Education. (3 rd ed.) New York: McGraw – Hill Book Company.
“What is the history of the field ?”. AECT. Avalable : http://www.aect.org/standards/history.html.
June 5, 2004.
Saettler,L.Paul. 1990. The Evolution of American Educational Technology. Colorado: Libraries
Unlimited, INC.



http://pirun.ku.ac.th/~g4966059/concept.doc

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น